วันพุธที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

กฏหมายเกี่ยวกับคลังสินค้า

กฏหมายเกี่ยวกับคลังสินค้า

พระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง องค์การคลังสินค้า พ.ศ.2498ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.ให้ไว้ ณ วันที่ 14 เมษายน พ.ศ.2498เป็นปีที่ 10 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรจัดตั้งองค์การคลังสินค้าอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 95 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 และมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ.2496 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า "พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การคลังสินค้า พ.ศ.2498"

มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ในพระราชกฤษฎีกานี้

"องค์การฯ"หมายความว่า องค์การคลังสินค้า
"พนักงาน"หมายความว่า ผู้ที่ทำงานสังกัดอยู่ในองค์การทุกตำแหน่งที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้อำนวยการ
"ผู้อำนวยการ"หมายความว่า ผู้อำนวยการขององค์การ
"คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการขององค์การ
"รัฐมนตรี"หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้


มาตรา 4 ให้จัดตั้งองค์การขึ้นองค์การหนึ่ง เรียกว่า "องค์การคลังสินค้า"

มาตรา 5 องค์การมีสำนักงานแห่งใหญ่อยู่ในจังหวัดพระนคร และจะตั้งสำนักงานสาขา หรือตัวแทนขึ้น ณ ที่ใดภายในหรือภายนอกราชอาณาจักรก็ได้

มาตรา 6 องค์การมีวัตถุประสงค์ทำกิจการทั้งปวงเกี่ยวกับสินค้าเกษตร และสินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งธุรกิจ บริการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตร และสินค้าอุปโภคบริโภค
(มาตรา 6 แก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การคลังสินค้า (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2540 ใช้ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2540)


มาตรา 7 เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวในมาตรา 6 ให้องค์การมีอำนาจรวมถึง
(1) ถือกรรมสิทธิ์ ครอบครองที่ดินและทรัพย์สินอื่น ๆ มีทรัพย์สิทธิต่าง ๆ สร้าง ซื้อ ขาย เช่า ให้เช่า ให้เช่าซื้อ ยืม ให้ยืม จำนำ รับจำนำ จำนอง รับจำนอง จัดหา จำหน่าย แลกเปลี่ยน โอน และรับ โอนด้วยประการใด ๆ ซึ่งที่ดินทรัพย์สิน อื่น ๆ หรือสิทธิทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร รับเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้ และดำเนินการเกี่ยวกับ เครื่องใช้ บริการ หรือ ทรัพย์สินใด ๆ
(2) ทำการผลิต การค้า การรับฝากขาย การสะสม การรวบรวม และการขนส่งสินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภค บริโภค
(3) ประกอบกิจการคลังสินค้าและกิจการเกี่ยวกับสินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งธุรกิจบริการ ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภค
(4) ร่วมการงานหรือสมทบกับบุคคลอื่น เพื่อประโยชน์แก่กิจการขององค์การ รวมทั้งการเข้าเป็นหุ้นส่วน จำพวกจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือถือหุ้นในบริษัทจำกัด หรือนิติบุคคลใด โดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี
(มาตรา 7 (4) แก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การคลังสินค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2518 ใช้ ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2518)
(5) กู้ ยืม เงิน ถ้าเป็นจำนวนเกินกว่าหนึ่งร้อยล้านบาท ต้องได้รับอนุญาตจากคณะรัฐมนตรีก่อน
(6) ให้กู้ ให้ยืมเงิน โดยมีหลักประกันด้วยบุคคลหรือด้วยทรัพย์
(7) จัดตั้งฉางข้าว โรงสี คลังสินค้า และร้านค้า
(8) กระทำการอื่นใดเพื่อส่งเสริมการผลิตตลอดจนกิจการค้าสินค้าเกษตร และสินค้าอุปโภคบริโภคของคนไทย ทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร (มาตรา 7 (2) (3) (5) (8) แก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การคลังสินค้า (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2540 ใช้ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2540)


มาตรา 8 ให้กระทรวงเศรษฐการโอนบรรดาทรัพย์สิน สินทรัพย์ สิทธิ ความรับผิดและธุรกิจของกองคลังสินค้า กรมการค้าภายใน ซึ่งสังกัดอยู่ในกระทรวงเศรษฐการ ตลอดจนพนักงานของกองคลังสินค้า ก่อนวันใช้พระราชกฤษฎีกานี้บังคับให้แก่องค์การ ซึ่งตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกานี้ดำเนินการต่อไป

มาตรา 9 ให้กำหนดทุนขององค์การเป็นจำนวนเงินหนึ่งร้อยยี่สิบห้าล้านบาท โดยรัฐบาลจ่ายให้เป็นทุนประเดิมสิบล้านบาท และจ่ายเพิ่มเติมเป็นคราว ๆ ตามจำนวนที่รัฐบาลพิจารณาเห็นสมควร

มาตรา 10 เงินสำรองขององค์การให้ประกอบด้วยเงินสำรองธรรมดาซึ่งตั้งไว้เผื่อขาด เงินสำรองเพื่อไถ่ถอนหนี้ และเงินสำรองอื่น ๆ เพื่อความประสงค์แต่ละอย่างโดยเฉพาะตามแต่คณะกรรมการจะเห็นสมควร

มาตรา 11 รายได้ที่องค์การได้รับจากการดำเนินกิจการในระหว่างปีให้นำไปใช้สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพื่อกิจการขององค์การได้

มาตรา 12 รายได้ปีหนึ่ง ๆ เมื่อได้หักราคาทุนของสินค้าที่ได้จำหน่าย หักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามมาตรา 11 และหักค่าภาระต่าง ๆ ที่เหมาะสมออกแล้ว เหลือเป็นกำไรสุทธิประจำปีเท่าใด อาจจัดสรรไว้เป็นเงินสำรองตามมาตรา 10 เงินต่าง ๆ ตามมาตรา 20 เงินสมทบกองทุนสำหรับจ่ายสงเคราะห์ผู้อำนวยการและพนักงานตามมาตรา 27 และเงินลงทุนซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว เหลือเท่าใดให้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐ
ถ้ารายได้มีจำนวนไม่พอสำหรับกรณีดังกล่าว นอกจากเงินสำรองที่ระบุไว้ในมาตรา 10 และองค์การไม่สามารถหาเงินจากทางอื่นไดั รัฐบาลพึงพิจารณาจ่ายเงินให้แก่องค์การเท่าจำนวนที่จำเป็น


มาตรา 13 ให้รัฐมนตรีมีอำนาจและหน้าที่ควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการขององค์การและเพื่อการนี้รัฐมนตรี มีอำนาจเรียกประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ กรรมการ ผู้อำนวยการ ตัวแทนขององค์การ หรือบุคคลใด ๆ ในองค์การมาชี้แจงข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็น หรือให้ทำรายงานยื่นก็ได้ (มาตรา 13 แก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การคลังสินค้า (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2535 ใช้ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2535)

มาตรา 14 เรื่องที่ต้องเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีตามความในพระราชกฤษฎีกานี้ ให้คณะกรรมการนำเสนอรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรี (มาตรา 14 แก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การคลังสินค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2518 ใช้ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2518)

มาตรา 15 ให้มีคณะกรรมการองค์การคลังสินค้าคณะหนึ่ง ประกอบด้วย ประธานกรรมการ รองประธาน กรรมการผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงละหนึ่งคนเป็นกรรมการและกรรมการอื่นซึ่งมิใช่ผู้แทนของส่วนราชการอีกไม่เกินห้าคน และผู้อำนวยการเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
ให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการอื่น
ให้ผู้อำนวยการเป็นเลขานุการคณะกรรมการ
(มาตรา 15 แก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การคลังสินค้า (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2535 ใช้ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2535)
มาตรา 16 ผู้มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ต้องห้ามมิให้เป็นประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ หรือกรรมการ คือ
(1) มีส่วนได้เสียในสัญญากับองค์การหรือในกิจการที่จะกระทำให้แก่องค์การ ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม เว้นแต่จะเป็นเพียงหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือผู้ถือหุ้นของบริษัทจำกัดที่กระทำการอันมีส่วนได้เสีย เช่นว่านั้น
(2) เป็นพนักงาน
(3) เป็นบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย
(4) เป็นข้าราชการการเมืองหรือดำรงตำแหน่งทางการเมือง
(5) ดำรงตำแหน่งใด ๆ ในพรรคการเมือง


มาตรา 16 แก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การคลังสินค้า (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2535 ใช้ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2535) (มาตรา 16 (5) แก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การคลังสินค้า (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2540 ใช้ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2540)

มาตรา 17 ให้คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่วางนโยบายและควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการขององค์การ และให้มีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้ด้วย คือ (1) ดำเนินกิจการตามความในมาตรา 6 และมาตรา 7
(2) วางข้อบังคับต่าง ๆ เกี่ยวกับการบริหารงาน
(3) วางข้อบังคับว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การถอดถอน การเลื่อนขั้นเงินเดือน การตัดเงินเดือน การลดขั้นเงินเดือนและระเบียบวินัยของพนักงาน ตลอดจนกำหนดอัตราตำแหน่ง อัตราเงินเดือน ค่าจ้างและเงินอื่น ๆ ของพนักงาน
(4) กำหนดอัตราดอกเบี้ย ค่าภาระ ค่าบริการ และค่าดำเนินธุรกิจต่าง ๆ
(5) กำหนดอัตราและดอกเบี้ยเงินสะสมของผู้อำนวยการและพนักงาน และวางระเบียบการจ่ายคืนเงินสะสม
ข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติงานที่คณะกรรมการวางขึ้นนั้น ถ้ามีข้อจำกัดอำนาจผู้อำนวยการในการทำนิติกรรมไว้ประการใด ให้รัฐมนตรีประกาศข้อบังคับที่มีข้อความเช่นว่านั้นในราชกิจจานุเบกษา


มาตรา 18 ให้ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่ง คราวละสามปี แต่อาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ ในกรณีที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ หรือกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ หรือในกรณีที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการเพิ่มขึ้น ในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งนั้นดำรงตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้ว
เมื่อครบกำหนดตามวาระตามวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นใหม่ให้ ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการอื่นซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไป จนกว่าคณะกรรมการ ซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
(มาตรา 18 แก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การคลังสินค้า (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2535 ใช้ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2535)


มาตรา 19 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 18 ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ หรือกรรมการ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) คณะรัฐมนตรีให้ออก
(4) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 16
(มาตรา 19 แก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การคลังสินค้า (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2535 ใช้ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2535)


มาตรา 20 ให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้กำหนดเงินผลประโยชน์ตอบแทนของประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการ ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ กรรมการ ผู้อำนวยการ และพนักงานอาจได้รับเงินบำเหน็จ เงินรางวัล ตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
มาตรา 21 ให้คณะกรรมการเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนผู้อำนวยการด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ให้ผู้อำนวยการได้รับเงินเดือนตามที่คณะกรรมการกำหนด


มาตรา 21 แก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การคลังสินค้า (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2535 ใช้ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2535)

มาตรา 22 ผู้มีส่วนได้เสียในสัญญากับองค์การ หรือในกิจการที่จะกระทำให้แก่องค์การ ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรง หรือโดยทางอ้อม เว้นแต่จะเป็นเพียงหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือผู้ถือหุ้นของบริษัทจำกัด ที่กระทำ การอันมีส่วนได้เสียเช่นว่านั้น ต้องห้ามมิให้เป็นผู้อำนวยการ

มาตรา 23 ให้ผู้อำนวยการมีอำนาจและหน้าที่จัดการและดำเนินกิจการขององค์การให้เป็นไปตามนโยบายและ ข้อบังคับที่คณะกรรมการได้วางไว้ และมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานทุกตำแหน่ง ผู้อำนวยการต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการในการจัดการและดำเนินกิจการขององค์การ

มาตรา 24 ผู้อำนวยการมีอำนาจดังต่อไปนี้ด้วย คือ
(1) บรรจุ แต่งตั้ง ถอดถอน เลื่อนขั้นเงินเดือน ตัดเงินเดือน หรือลดขั้นเงินเดือน ตลอดจนลงโทษทางวินัยแก่พนักงาน ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการได้วางไว้ แต่ถ้าพนักงานเช่นว่านั้นเป็นพนักงานชั้นรองผู้อำนวยการ ที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญหรือหัวหน้าฝ่ายต่าง ๆ ที่ขึ้นตรงต่อผู้อำนวยการ ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อน
(2) วางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติกิจการขององค์การโดยไม่แย้งหรือขัดต่อนโยบายและข้อบังคับที่คณะกรรมการได้วางไว้


มาตรา 25 เมื่อผู้อำนวยการไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ถ้ามีรองผู้อำนวยการ ให้รองผู้อำนวยการ เป็นผู้รักษาการแทน ถ้าไม่มีรองผู้อำนวยการ ให้ผู้อำนวยการแต่งตั้งรองผู้อำนวยการ ถ้ามิได้แต่งตั้ง หรือไม่อาจแต่งตั้งได้ให้ คณะกรรมการแต่งตั้งผู้รักษาการแทน
ให้ผู้รักษาการแทนผู้อำนวยการ มีอำนาจและหน้าที่อย่างเดียวกับผู้อำนวยการ เว้นแต่อำนาจและหน้าที่ของผู้อำนวยการในฐานะกรรมการขององค์การ และต้องปฏิบัติกิจการให้อยู่ภายในแผนงานที่ผู้อำนวยการกำหนดไว้


มาตรา 26 ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้อำนวยการเป็นตัวแทนขององค์การและเพื่อการนี้ ผู้อำนวยการอาจมอบให้บุคคลใด ๆ ปฏิบัติกิจการบางอย่างแทนในเมื่อคณะกรรมการกำหนดไว้ในข้อบังคับว่าให้ปฏิบัติแทน กันได้นั้นก็ได้
ในกรณีที่มีข้อบังคับซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา 17 วรรคท้าย กำหนดไว้ว่า นิติกรรมใด ผู้อำนวยการจะทำได้ก็แต่โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการก่อน นิติกรรมนั้น ผู้อำนวยการ ทำขึ้นโดยมิได้รับความเห็นชอบดังกล่าวย่อมไม่ผูกพันองค์การ เว้นแต่คณะกรรมการจะได้ให้สัตยาบัน


มาตรา 27 ให้องค์การจัดให้มีกองทุนสำหรับจ่ายสงเคราะห์ผู้อำนวยการ และพนักงานในกรณีพ้นจากตำแหน่ง ประสบอุบัติเหตุ เจ็บป่วย หรือกรณีอื่นอันควรแก่การสงเคราะห์ การจัดให้ได้มาซึ่งกองทุนดังกล่าวในวรรคก่อน การกำหนดประเภทของผู้ที่พึงได้รับการสงเคราะห์จากกองทุน และหลักเกณฑ์การสงเคราะห์ ตลอดจนการจัดการเกี่ยวกับกองทุน ให้เป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการได้วางไว้
ข้อบังคับดังกล่าวในวรรคก่อน ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ใช้บังคับได้


มาตรา 28 ให้องค์การเปิดบัญชีเงินฝากไว้กับกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย ระเบียบของคณะกรรมการซึ่งได้รับความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

มาตรา 29 ให้องค์การวางและถือไว้ซึ่งระบบการบัญชีอันถูกต้อง แยกตามประเภทงานส่วนที่สำคัญ มีการสอบบัญชีภายในเป็นประจำ และมีสมุดบัญชีลงรายการ
(1) การรับและจ่ายเงิน
(2) สินทรัพย์และหนี้สิน ซึ่งแสดงการงานที่เป็นอยู่ตามจริงและตามที่ควร ตามประเภทงานพร้อมด้วยข้อความ อันเป็นเหตุที่มาของรายการนั้น ๆ


มาตรา 30 ทุกปีให้สำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบและตรวจบัญชีและการเงินขององค์การ

มาตรา 31 ผู้สอบและตรวจบัญชีมีอำนาจสอบและตรวจสรรพสมุด บัญชี และเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ขององค์การ และเพื่อการนี้ให้มีอำนาจสอบถามประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ กรรมการ ผู้อำนวยการ และบุคคลใด ๆ ในองค์การได้

มาตรา 32 ผู้สอบและตรวจบัญชีต้องทำรายงานว่าด้วยข้อความ คำชี้แจง อันควรแก่การสอบ และตรวจบัญชีที่ได้รับตลอดจนความสมบูรณ์ของสมุด บัญชีที่องค์การรักษาอยู่ และต้องแถลงด้วยว่า
(1) งบดุลและบัญชีซึ่งสอบและตรวจนั้นถูกต้องตรงกับสมุด บัญชี เพียงไร หรือไม่
(2) งบดุลและบัญชีซึ่งสอบและตรวจนั้นแสดงการงานขององค์การที่เป็นอยู่ตามจริงและตามที่ควร ตามข้อความ คำชี้แจงและความรู้เห็นของผู้สอบและตรวจบัญชี เพียงไรหรือไม่


มาตรา 33 ผู้สอบและตรวจบัญชี ต้องทำรายงานผลของการสอบและตรวจบัญชีเสนอคณะรัฐมนตรีภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับจากวันสิ้นปีบัญชีขององค์การ

มาตรา 34 ให้ผู้อำนวยการจัดทำรายงานประจำปีของปีที่สิ้นไปนั้นเสนอคณะกรรมการ แสดงงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรและขาดทุน ซึ่งผู้สอบและตรวจบัญชีรับรองว่าถูกต้องแล้วภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวัน นับจากวันสิ้นปีบัญชีขององค์การ

มาตรา 35 ให้คณะกรรมการทำรายงานปีละครั้งเสนอรัฐมนตรี รายงานนี้ให้กล่าวถึงผลงานในปีที่ล่วงแล้วขององค์การพร้อมด้วยคำชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายของคณะกรรมการ

มาตรา 36 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์รักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
(มาตรา 36 แก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การคลังสินค้า (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2540 ใช้ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2540)

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการจอมพล ป.พิบูลสงครามนายกรัฐมนตรี

ไม่มีความคิดเห็น: